รองเท้าเซฟตี้คืออะไร

ทุกวันนี้เรามีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน  รองเท้าก็เช่นกัน รองเท้า คือสิ่งที่เราใช้ในการปกป้องเท้าของเรา สำหรับการเดินเหินปกติก็เป็นรองเท้าทั่วๆไปไม่ต้องป้องกันอะไรมากแค่ไม่ให้เท้าโดนสิ่งสกปรกเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าการทำงานนั้นเราไม่ได้ต้องการแค่การป้องกันสิ่งสกปรก เพราะในที่ทำงานมักจะมีอุบัติเหตุต่างๆเกิดขึ้นเสมอ การป้องกันเท้าจากอุบัติเหตุต่างๆแค่รองเท้าธรรมดาคงไม่เพียงพอ รองเท้าเซฟตี้จึงจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ  โดยรองเท้าเซฟตี้ก็จะมีหลากหลายซึ่งจะถูกออกแบบมาให้ป้องกันอุบัติเหตุต่างๆได้ดังนี้

 1.สามารถปกป้องเท้าจากของตกใส่

เมื่อต้องยกของหนักๆ หรือ จำเป็นต้องทำงานในที่ที่มีเครื่องจักร หรือ ยานพาหนะ จำนวนมากๆ การหล่นของสิ่งของนั้นเป็นปัจจัยแรกๆของอันตรายต่างๆ เพราะฉะนั้น การใส่รองเท้าเซฟตี้ที่มีหัวเหล็กเพื่อป้องกันเท้าจะสามารถช่วยป้องกันนิ้วเท้าหักและการบาดเจ็บของเท้าได้ โดยมาตรฐานของการกระแทกที่หัวรองเท้านั้นจะอยู่ที่ 200 จูล ( สามารถรับแรงกระแทกได้ 20 กิโลกรัม จากความสูง 1 เมตร )

 2.สามารถป้องกันการเจาะทะลุ

สภาพแวดล้อมบางแห่งอาจจะมีวัตถุที่แหลมคม ซึ่งสามารถบาดหรือเจาะ ทำให้เท้าได้รับบาดเจ็บ การใส่รองเท้าเซฟตี้นั้นจะสามารถช่วยได้เพราะรองเท้าเซฟตี้มีพื้นที่แข็งแรง หรือในบางรุ่นอาจจะมีพื้นเสริมแผ่นเหล็กเพื่อป้องกันตะปูได้อีกด้วย

3.สามารถป้องกันการตัดเฉือน

งานบางประเภทนั้น อาจจำเป็นมีการตัดหรือเฉือน ซึ่งงานประเภทนี้จำเป็นต้องใช้รองเท้าที่ผลิตจากวัสดุที่กันบาดโดยเฉพาะ รองเท้าเซฟตี้ที่สามารถกันการตัดเฉือนได้ จำเป็นได้รับมาตรฐานสากลเช่น OSHA 29 CFR 266(d)(1)(v)

 4.สามารถป้องกันการลื่นไถล

จริงๆแล้วการลื่นไถลนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกๆที่ แต่ว่าคนงานที่ต้องทำงานกับเครื่องจักรหรือยานพาหนะ จะต้องเจอกับคราบน้ำมันที่มีความลื่น เพราะฉะนั้นจึงควรเลือกรองเท้าเซฟตื้ที่มีพื้นดอกยางลึก เพื่อให้ยึดเกาะพื้นผิวให้ดีขึ้น การที่เราเลือกรองเท้าเซฟตี้ที่มีพื้นดอกยางลึกนั้นยังช่วยลดการสึกของพื้นรองเท้ารวมถึงการใช้งานที่ยาวนานขึ้นอีกด้วย

5.สามารถป้องกันการเผาไหม้

การถูกเผาไหม้จากไฟนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในการทำงาน แต่สารเคมีก็สามารถเผาไหม้ได้เช่นกัน โดยรองเท้าเซฟตี้ที่ใช้สำหรับงานที่เสี่ยงกับการเกิดประกายไฟนั้นควรจะผลิตจากหนังแท้ ไม่ควรเป็นหนัง PVC เพราะว่า หนังแท้มีความทนทานสูงและไม่เกิดการลามของไฟ

6.สามารถป้องกันสภาพอากาศ

การทำงานในพื้นที่ที่เย็นจัดหรือร้อนจัดโดยเฉพาะคนงานที่ต้องทำงานในห้องแช่แข็งหรือทำงานหน้าเตาหลอม สามารถก่อให้เกิดอันตรายได้ อย่างไรก็ตาม เราควรใช้รองเท้าเซฟตี้ที่มีพื้นรองเท้าที่หนาและทนทานต่อสภาพพื้นผิวหน้างานนั้นๆ

 7.สามารถป้องกันอุบัติเหตุจากกระแสไฟฟ้า สำหรับผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าจะมีหลายแบบคือ

7.1รองเท้าตัวนำ (Conductive Footware) รองเท้าเซฟตี้ที่จะเป็นตัวนำ ต้องออกแบบให้มีการปล่อยไฟฟ้าสถิตจากร่างกายผู้สวมใส่ผ่านรองเท้าลงสู่พื้น ทั้งนี้ พื้นจะต้องเรียบเพื่อให้ไฟฟ้าสถิตกระจายตัวออกไปได้ง่าย จุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าสถิตเกิดการสะสมทั้งบนร่างกายและพื้นที่ทำงานซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการระเบิดหรือลุกไหม้ ใช้สวมใส่เมื่อต้องเข้าไปทำงานในบริเวณที่มีวัตถุระเบิดหรือสารเคมีที่ระเบิดหรือลุกติดไฟได้ง่าย

7.2รองเท้ากระจายไฟฟ้าสถิต (Static Dissipative (SD) Footware) จะเป็นรองเท้าเซฟตี้ที่เป็นทั้งรองเท้าตัวนำและรองเท้าป้องกันไฟฟ้าดูดในคู่เดียวกัน ต้องมีคุณสมบัติในการลดการสะสมสูงสุดของไฟฟ้าสถิตบนร่างกายได้ แต่ก็ยังมีไฟฟ้าสถิตในระดับสูงพอจะทำให้มีความต้านทานกระแสไฟฟ้าในอัตราที่กำหนดไว้ (อัตรากำหนดสำหรับการทดสอบ 106-109 โอห์ม) นั่นคือ รองเท้ากระจายไฟฟ้าสถิตจะต้องเป็นทั้งตัวนำไฟฟ้าสถิตและตัวต้านทานกระแสไฟฟ้าซึ่งสามารถสวมใส่เข้าไปในบริเวณที่มีความเสี่ยงทั้งสองลักษณะได้

7.3รองเท้าป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า (Electrical Hazard (EH) Footware) รองเท้าเซฟตี้ที่จะนำไปใช้ป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าต้องมีโครงสร้างพื้นรองเท้าสามารถลดอันตรายจากกระแสไฟฟ้าเมื่อสัมผัสกับวัตถุที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน โดยให้เป็นมาตรการป้องกันขั้นที่สอง (Secondary Protection) รองจากการปกคลุมหรือห่อหุ้มผิวด้านนอกตัวนำไฟฟ้าด้วยฉนวน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งรองเท้าเซฟตี้ที่ใช้พื้นและส้นรองเท้าทำด้วยวัสดุไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า มีจุดประสงค์เพื่อนำไปสวมใส่ในบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้าไหลอยู่บนพื้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดหรือในลักษณะไหนก็ตาม เป็นการป้องกันผู้สวมใส่ไม่ให้ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช๊อต ทั้งนี้ บริเวณดังกล่าวต้องมีมาตรการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าด้วยวิธีการหุ้มฉนวนไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว และรองเท้าเซฟตี้ที่สามารถกันไฟฟ้าได้ โดยทั่วไปแล้วจะต้องผลิตจากหนังแท้, ยาง หรือวัสดุที่ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้าและไม่มีรอยเย็บระหว่างพื้นรองเท้ากับตัวรองเท้า

 

สรุปคือ รองเท้าเซฟตี้สำหรับใช้งานทั่วไปหลักๆจะต้องมีหัวรองเท้าที่สามารถทนแรงกระแทกและแรงบีบตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ได้ ถือว่าเป็น “รองเท้าเซฟตี้สำหรับใช้งานทั่วไป” ”  อย่างไรก็ตามรองเท้าเซฟตี้อาจมีคุณสมบัติมากกว่าหนึ่งข้อในคู่เดียวกันก็ได้ รองลงมาจากหัวเหล็กก็คือ พื้นรองเท้าต้องต้านทานการแทงทะลุได้ด้วย ซึ่ง2ข้อหลักนี้เป็นรองเท้าเซฟตี้ที่กำลังเป็นที่ต้องการของลูกจ้างจำนวนมากในปัจจุบัน

ซึ่งเราสามารถสังเกตที่ข้างกล่องรองเท้าเซฟตี้ว่ามีระบุคุณสมบัติตามมาตรฐานอะไรบ้าง เพราะได้บังคับให้ผู้ผลิตเพิ่มตัวอักษรระบุวัตถุประสงค์หรือสภาพแวดล้อมในการใช้งานรองเท้าโดยจะมีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานดังนี้

SB (Safety Basic)   สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน

SBP (SB with pierce resistant midsole) สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นต้านทานการแทงทะลุ

S1 (SB with anti-static sole and cushioned heel area) สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต

S1P (S1 with pierce resistant midsole) สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต รวมถึงพื้นต้านทานการแทงทะลุ

S2 (S1 with water resistant upper) สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต รวมถึงส่วนบนต้านทานน้ำ

S3 (S2 with pierce resistant midsole) สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและสันต้านทานไฟฟ้าสถิต ส่วนบนต้านทานน้ำ รวมทั้งพื้นต้านทานการแทงทะลุ

แต่ถ้าหากมีคุณสมบัติพิเศษนอกเหนือจากมาตรฐานที่กล่าวมา จะมีสัญลักษณ์เพิ่มเติมด้านท้ายตามนี้

P – มีพื้นเหล็ก ป้องกันการเจาะทะลุได้ 1,100 นิวตัน

C – รองเท้าป้องกันไฟฟ้าสถิตแบบตัวนำ

A – รองเท้าป้องกันไฟฟ้าสถิต

HI – รองเท้ามีฉนวนป้องกันความร้อน

CI – รองเท้ามีฉนวนป้องกันความเย็น (-20 C)

E – พื้นรองเท้าสามารถช่วยดูดซับแรงกดบนส้นเท้า 20 จูล

WRU – ส่วนบนรองเท้าป้องกันน้ำซึมเข้ารองเท้า

HRO – พื้นรองเท้าทนความร้อน 300 องศาเซลเซียส นาน 1 นาที

CRO – พื้นรองเท้าป้องกันน้ำมัน

ที่สำคัญรองเท้าเซฟตี้ก็ควรต้องมีคุณสมบัติลดอาการเมื่อยล้า มีน้ำหนักเบา พื้นนิ่ม เพื่อให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องและลดการเกิดอาการปวดเมื่อย เราควรต้องเลือกรองเท้าเซฟตี้ที่ที่มีขนาดใหญ่กว่ารองเท้าที่สวมใส่ปกติเล็กน้อย เพื่อไม่ให้หัวเหล็กบีบหรือกดเท้า และการเลือกซื้อรองเท้าเซฟตี้ควรทดลองสวมใส่ในเวลา 13.00 – 16.00 น. เพราะในช่วงเช้ามีอากาศค่อนข้างเย็น ทำให้เท้าเราหดตัว แต่ในช่วงบ่าย เท้าของเราจะขยายตัวซึ่งเป็น-ช่วงเวลาที่เหมาะในการเลือกรองเท้า

ตัวอย่างรองเท้าเซฟตี้ของเรา กดที่นี่

แชทผ่านไลน์