วิธีการเอาตัวรอด เมื่อติดอยู่ในพาหนะที่ไฟไหม้

วิธีเอาตัวรอดเมื่อติดอยู่ในยานพาหะนะที่ไฟไหม้

ข่าวที่ได้เห็นกันบ่อยครั้งกับอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ไฟไหม้รถยนต์ หรือข่าวที่ใหญ่ตอนนี้ก็คืออุบัติเหตุไฟไหมฮ.ของท่านเจ้าของและประธานสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ (ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยนะคะ) เราไม่มีทางรู้หรอกว่า เราอาจจะเป็นผู้ประสบเหตุในวันใดของชีวิตก็ได้ ดังนั้นเรามาเรียนรู้กันว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างในเมื่อเหตุการฉุกเฉินนี้เกิดขึ้นกับตัวเรา ขอยกตัวอย่างเป็นรถยนต์ซึ่งเป็นยานพาหะนะที่คนส่วนใหญ่ใช้กันนะคะ

เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ไฟไหม้หรือมีควันออกมาจากตัวรถสิ่งที่เราต้องเตรียมปฏิบัติคือ


1.สติ เมื่อเกิดอุบัติเหตุคนส่วนใหญ่ผู้ที่ประสบเหตุอาจจะหมดสติจากแรงกระแทก หรืออาจจะเสียชีวิตคาที่จากแรงชน แต่ถ้าคุณรู้สึกตัวทันท่วงทีอย่างแรกที่ควรมี คือ สติ คุณควรตั้งสติให้มั่น ไม่ตื่นตระหนก

2.บิดปิดสวิทช์กุญแจ หากคิดว่ามีเวลามากพอให้คุณดับสวิทช์กุญแจของรถคันที่คุณขับหรือโดยสาร (รวมถึงกรณีถ้าคุณเป็นพลเมืองดีพบผู้ประสบเหตุ) เพื่อป้องกันการเกิดประกายไฟ จนอาจจะนำไปสู่การเกิดเพลิงไหม้ แต่หากคุณได้กลิ่นควันไฟ หรือรู้สึกถึงความร้อน ให้ข้ามขั้นตอนนี้ไปทันที เพราะไฟอาจจะเริ่มลุกไหม้ไปแล้ว

3.ออกจากรถทันที ในกรณีที่คุณทำอะไรไม่ได้ในเวลานั้น สิ่งเดียวที่คุณทำได้คือออกจากตัวรถทันที จงจำไว้ว่าไม่มีอะไรสำคัญกว่าชีวิตของคุณเอง กรณีที่มีพลเมืองดีหรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้ามาช่วยเหลือและคุณประสบเหตุพร้อมกับเพื่อน ญาติ หรือใครคนสำคัญ ถ้าร่างกายคุณไหวและยังมีสติอยู่ก็ให้พาตัวคุณเองออกมาก่อน แต่หากไม่มีทีมช่วยเหลือให้คุณสอบถามเพื่อนถึงอาการบาดเจ็บ และจุดที่เขาติดอยู่ก่อน แล้วรีบพาตัวเองออกมา จากนั้นจึงเริ่มการช่วยเหลือ

3.1 และหลายครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารในรถไม่สามารถออกมาจากตัวรถได้ จนเกิดอันตรายมากกว่าเดิม ลำพังมือเปล่าไม่สามารถทุบกระจกให้แตกได้อยู่แล้ว ดังนั้นเราควรจะมีอุปกรณ์อย่างค้อนทุบกระจกติดรถเอาไว้ แนะนำให้ติดอยู่ที่เสา B กลางรถ ติดตั้งแบบยึดกับตัวรถไว้เลย เวลาต้องการใช้งานจะได้หยิบได้ทันท่วงที

4.ออกห่างจากรถให้มากที่สุด เมื่อคุณช่วยชีวิตได้แล้ว อย่าไปสนใจทรัพย์สินภายในรถ เอาตัวคุณเองออกห่างจากรถทันที ไม่ว่าอะไรมันไม่สำคัญแล้ว เพราะคุณได้ทำสิ่งที่สำคัญไปแล้ว คือช่วยชีวิตตัวเองและเพื่อนที่เดินทางมาด้วย นั่นเพียงพอแล้ว ที่เหลือ ให้รอเจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการ ส่วนทรัพย์สินนั้นคุณสามาถรถร้องขอจากประกันรถคุณได้ เพราะเป็นความเสียหายโดยตรงจากเหตุ

5.กรณีไฟไหม้รถเพียงเล็กน้อย ให้ควบคุมเพลิงด้วยตนเองในเบื้องต้น โดยใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นบริเวณต้นเพลิงให้ดับสนิท

5.1หากมีเปลวไฟออกมาจากฝากระโปรงรถ เร่งปลดสลักฝากระโปรง และใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดพ่นผ่านทางช่องฝากระโปรงที่แง้มไว้ เตือนว่าห้ามเปิดฝากระโปรงในทันที เพราะจะทำให้ไฟลุกลามมากขึ้น

5.2เมื่อไฟเริ่มสงบ จึงใช้ผ้ารองหรือสวมถุงมือค่อยๆ เปิดฝากระโปรงเนื่องจากฝากระโปรงมีความร้อนสูง

5.3หากเปิดได้แล้ว ควรฉีดพ่นให้ทั่วห้องเครื่องจนมั่นใจว่าไฟดับสนิท

5.4ไฟดับสนิทแล้วควรถอดขั้วแบตเตอรี่ออก ป้องกันมิให้เปลวไฟปะทุ

อุปกรณ์ติดรถกรณีฉุกเฉินที่ควรมี คลิ๊กที่ชื่ออุปกรณ์เพื่อดูภาพตัวอย่างได้เลย

ถังดับเพลิงติดรถ

ค้อนทุบกระจกและที่ตัดเข็มขัดนิรภัย

ไฟฉายกู้ภัยเอนกประสงค์สำหรับรถยนต์

ป้ายสามเหลี่ยมสะท้อนแสง


สาเหตุไฟไหม้รถยนต์

- สาเหตุอันดับต้นๆ มาจากน้ำมันเชื้อเพลิงรั่ว ซึ่งน้ำมันเชื้อเพลิงมีจุดเผาไหม้ต่ำเพียงแค่อุณหภูมิสูงเกิน 72 องศาก็มีโอกาสติดไฟได้

- สาเหตุอันดับสองคือระบบไฟฟ้าในรถอันมีต้นเหตุจากแบตเตอรี่ที่ก่อให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนที่ติดไฟได้ หากสายไฟในห้องเครื่องชำรุด หลุดหลวมนับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

-เครื่องยนต์โอเวอร์ฮีต เกิดจากหลายสาเหตุทั้งน้ำมันเครื่องรั่วซึม พัดลมห้องเครื่องไม่ทำงาน ไปจนถึงการดัดแปลงเครื่องยนต์ให้ผิดไปจากมาตรฐาน

-ของเหลวรั่วซึม ทั้งน้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก น้ำมันเครื่อง น้ำยาหล่อเย็น หากมีการรั่วซึม อาจเป็นสาเหตุให้เกิดประกายไฟและลุกไหม้ได้

-แคทฯตันจนเกิดความร้อนสูง คืออุปกรณ์กรองก๊าซพิษไอเสีย (Catalytic Converters) เมื่อใช้ไปนานๆ อาจอุดตันและทำให้ระดับอุณหภูมิสูงขึ้นถึงพันองศาจนแผ่นพรมใต้พื้นเกิดการลุกไหม้ได้

-แบตเตอรี่รถยนต์ไฮบริด รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้จากปัญหาของตัวแบตเตอรี่

-ขวดน้ำ หรือขวดน้ำหอมติดรถที่เป็นขวดแก้วอาจกลายเป็นปริซึมรวมแสงโดยบังเอิญ จนเป็นจุดเริ่มต้นของการไฟไหม้ได้

-การผลิตและออกแบบที่ผิดพลาด ชิ้นส่วนที่ออกแบบไม่ดีหรือมีจุดอ่อนของผู้ผลิตรถยนต์

-ขาดการดูแลรักษา ไม่หมั่นตรวจเช็กความสมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ระบบของเหลวหรือสายไฟต่างๆ

-รถชน หากเกิดรถชนรุนแรงหนักหน่วง ก็อาจส่งผลให้ถังน้ำมันแตกร้าวและเกิดประกายไฟได้



วิธีป้องกันไฟไหม้รถยนต์

-ควรตรวจสอบสภาพรถให้พร้อมใช้งาน เติมน้ำหม้อน้ำในระดับที่กำหนด

-เช็กสายไฟ ต้องไม่มีรอยขาด ไม่มีรอยน้ำมันรั่วซึม

-เช็กท่อน้ำมันเชื้อเพลิงต้องไม่มีรอยรั่ว ไม่มีเศษวัสดุติดในหม้อน้ำและท่อยาง

-ปรับตั้งสายพานมีความตึงในค่าที่กำหนด

-สังเกตกระโปรงหน้ารถ หากมีเขม่าดำเกาะ แสดงว่า เครื่องยนต์ทำงานไม่สมบูรณ์

-ตรวจสอบใต้ท้องรถ หากมีรอยน้ำมันหยดควรรีบแก้ไขโดยด่วน

-สังเกตน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซหากลดลงอย่างรวดเร็ว เครื่องยนต์ร้อนจัด ได้กลิ่นเหม็นไหม้ของยางหรือพลาสติก กลิ่นก๊าซรั่ว เครื่องยนต์มีเสียงดังผิดปกติให้รีบนำรถไปตรวจสอบและซ่อมแซมทันที



จะเห็นได้ว่าการเกิดไฟไหม้กับรถยนต์ ยังเป็นไปได้เสมอ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการหมั่นตรวจสภาพรถให้พร้อมใช้งาน หมั่นสังเกตความผิดปกติของรถ โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นเก่าที่ผ่านการปรับแต่งสภาพและใช้อะไหล่ที่ไม่มีคุณภาพหรือต่ำกว่ามาตรฐาน

หากเกิดเหตุฉุกเฉิน สามารถแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายโทร 191

ศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 199

และสายด่วนนิรภัย 1784

สินค้าแนะนำ

แชทผ่านไลน์